โรลส์-รอยซ์ แฟนท่อม (อังกฤษ: Rolls-Royce Phantom) มีชื่อเสียงในฐานะรถพรีเมียมของค่ายรถยนต์ โรลส์-รอยซ์ (ซึ่งเป็นค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถหรูหราระดับ Luxury Car) เริ่มการผลิตรุ่นแรกใน พ.ศ. 2468 โดยเป็นรุ่นที่ออกมาทดแทนรถรุ่น โรลส์-รอยซ์ ซิลเวอร์ โกสต์ (Rolls-Royce Silver Ghost) มีการผลิตตั้งแต่รุ่นแรกถึงปัจจุบันที่ใช้ชื่อแฟนท่อม มี 7 รุ่น (แฟนท่อม ไม่ใช่การพัฒนาแบบ Generation เหมือนรถญี่ปุ่น แต่จะเป็นการใช้ชื่อรุ่นใหม่ เช่น แฟนท่อม I, II, III เป็นต้น ถือเป็นคนละโมเดล แต่มีชื่อคล้ายกัน และมีพัฒนาการจากโมเดลที่ออกมาก่อนโมเดลนั้นๆ) ดังนี้
แฟนท่อม I หรือรุ่นที่ 1 มีขายในสหราชอาณาจักร (ผลิตที่โรงงานในเมือง Derby) และ สหรัฐอเมริกา (ผลิตที่โรงงานในเมืองสปริงฟีลด์ รัฐแมสซาชูเซตส์) มียอดผลิตรวม 3,512 คัน
แฟนท่อม I มีตัวถังแบบซีดาน 4 ประตู ใช้เครื่องยนต์ 7668 ซีซี 6 สูบ ใช้ระบบเกียร์2แบบให้เลือก คือ ธรรมดา 3 กับ 4 สปีด (สมัยนั้นไม่มีเกียร์อัตโนมัติ)
แฟนท่อม II หรือรุ่นที่ 2 ใช้เครื่องยนต์เดียวกับรุ่นแรก แต่ยกเลิกเกียร์ธรรมดา 3 สปีด คงเหลือไว้แต่เกียร์ธรรมดา 4 สปีด รุ่นนี้มียอดผลิตรวม 1680 คัน
แฟนท่อม II ถูกนำไปประกอบภาพยนตร์เรื่อง ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า 3 ตอนศึกอภินิหารครูเสด (Indiana Jones and the Last Crusade)
ใน ค.ศ. 1939 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ขึ้น บริษัทโรลส์-รอยซ์ ซึ่งเป็นรถระดับมหาเจ้าสัว ได้รับผลกระทบจากพิษวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากสงครามโลกจนต้องหยุดการผลิตรถทุกชนิดไปชั่วคราว
จนกระทั่ง ค.ศ. 1946 หลังสงครามสิ้นสุดลง 1 ปี โรลส์-รอยซ์ ได้เริ่มการผลิตใหม่อีกครั้ง โดยรถรุ่นแรกที่ผลิตหลังสงคราม คือ โรลส์-รอยซ์ ซิลเวอร์ เวรธ (Rolls-Royce Silver Wraith) ซึ่งเป็นรถเกรดพรีเมียมของโรลส์-รอยซ์ แทนแฟนท่อมอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่ง ค.ศ. 1950 แฟนท่อมรุ่นที่ 4 ก็เริ่มผลิตขึ้น
แฟนท่อม IV หรือรุ่นที่ 4 มียอดการผลิตตลอด 6 ปี เพียง 18 คัน (ปัจจุบัน ใช้การไม่ได้ 2 คัน เหลือ 16 คัน) โดยเจ้าของส่วนใหญ่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เชื้อพระวงศ์ เจ้าชาย เจ้าหญิง หรือประมุขของรัฐ เช่น พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ประมุขแห่งอิหร่าน, สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร, เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต เคานท์เตสแห่งสโนว์ดอน, จอมพลฟรันซิสโก ฟรังโกแห่งสเปน ฯลฯ รวมทั้งมีการนำรถไปใช้เป็นรถของทางการ (official state car) ด้วย
ค.ศ. 1949 โรลส์-รอยซ์ ได้รับบัญชาจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และ เจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ ให้ผลิตรถรุ่นใหม่ที่ขนาดใหญ่กว่ารุ่น ซิลเวอร์ เวรธ ที่ขายอยู่ในขณะนั้น บริษัทโรลส์-รอยซ์ จึงผลิตแฟนท่อมรุ่นที่ 4 ออกมา โดยออกแบบอย่างละเอียดประณีตที่สุดและดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ด้วยปัญหาพิษเศรษฐกิจ พวกเขาไม่คิดว่า แฟนท่อม IV นี้ จะขายออกมากนัก
ค.ศ. 1950 ในการเปิดตัวรถ มีการกล่าวว่า แฟนท่อม IV "ออกแบบมาเป็นกรณีพิเศษตามบัญชาสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธและท่านดยุคแห่งเอดินบะระ" ("designed to the special order of Their Royal Highnesses, the Princess Elizabeth and the Duke of Edinburgh")
แฟนท่อมรุ่นที่ 4 ยกเลิกการผลิตเกียร์ธรรมดาลงทั้งหมด โดยหันมาผลิตเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีดแทน ส่วนเครื่องยนต์ ใช้เครื่อง 8 สูบ 5700 ซีซี ออกแบบมาเพื่องานพิธีการโดยเฉพาะ มันสามารถวิ่งได้ตั้งแต่ความเร็วที่ต่ำมากเป็นระยะไกลๆ แต่มีอัตราเร่งและอัตราเร็วสูงสุดใกล้เคียงกับรถสปอร์ตในยุคเดียวกัน
แฟนท่อม V หรือรุ่นที่ 5 มียอดการผลิต 516 คัน ใช้เครื่องยนต์ 8 สูบ 6230 ซีซี รุ่นที่ 5 นี้ เข้าถึงกลุ่มประชาชนทั่วไปมากขึ้น กลุ่มเจ้าของเริ่มเป็นกลุ่มมหาเศรษฐีที่เป็นสามัญชนมากขึ้น เช่น จอห์น เลนนอน แต่เจ้าของส่วนหนึ่งก็ยังเป็นราชวงศ์ เช่น สมเด็จพระราชาโอลาฟที่ 5 แห่งนอร์เวย์, เอลิซาเบธ โบวส์-ลีออน
แฟนท่อม VI หรือรุ่นที่ 6 มียอดการผลิต 374 คัน ใช้เครื่องยนต์ 8 สูบ 6230 ซีซี แต่ในค.ศ. 1982 ได้เปลี่ยนเป็น 6750 ซีซี เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด แต่ในค.ศ. 1979 มีการผลิตเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด ขายคู่กับ 4 สปีด มีการออกแบบอย่างหรูหรากว่าเดิม ยกระดับมาตรฐานความหรูหราขึ้นจากรุ่นในอดีต
ค.ศ. 1980 กิจการโรลส์-รอยซ์ จากที่เคยเป็นธุรกิจอิสระ(Rolls-Royce Limited) ได้กลายเป็นธุรกิจของ Vickers (และเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น Rolls-Royce Motors)
แฟนท่อม หรือรุ่นที่ 7 (ไม่มีตัวเลขโรมันตามหลัง) ใช้เครื่องยนต์ 6750 ซีซี เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด มียอดขายนับถึง ค.ศ. 2008 ได้ 4,915 คัน
ในระหว่างค.ศ. 1991 - 2003 ไม่มีการผลิตรถในชื่อแฟนท่อม ในระหว่างช่วงดังกล่าว Rolls-Royce Motors ได้เปลี่ยนเป็นธุรกิจของโฟล์กสวาเก้น ใน ค.ศ. 1998 และต่อมาใน ค.ศ. 2003 ก็กลายเป็นของ บีเอ็มดับเบิลยู และเปลี่ยนชื่อเป็น Rolls-Royce Motor Cars และเริ่มผลิตแฟนท่อมรุ่นที่ 7
ในสหรัฐอเมริกา แฟนท่อมรุ่นนี้ขายในราคา 300,000ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนในประเทศไทย เมื่อรวมราคาภาษีต่างๆ แล้ว ไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านบาท